สัญญาณอันตราย เมื่อกินอาหารที่มี ฟอร์มาลิน มากเกินไป


ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรเคมีว่า CH2O คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นสารที่ใช้สำหรับดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องคนป่วย ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นสารละลายใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เป็นสารรีดิวซ์รุนแรง เมื่อสัมผัสกับอากาศจะถูกออกซิไดส์ช้า ๆ ไปเป็นกรดฟอร์มิกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน

ฟอร์มาลินเป็นสารที่นิยมใช้กันในหลายด้าน ในด้านการแพทย์ เพื่อคงสภาพของเนื้อเยื่อไม่ให้เน่าเสีย ใช้ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือต่าง ๆ  

ในการทำเครื่องสำอางจะใช้สารฟอร์มาลินในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก สบู่ ครีมโกนหนวดเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้เป็นส่วนประกอบในความเข้มข้นที่ต่ำมาก ใช้ในน้ำยาดับกลิ่นตัว ใช้เป็นส่วนประกอบของแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น  

ในด้านอุตสาหกรรม ฟอร์มาลินทำให้ผ้าและกระดาษแข็งเกาะกัน จึงนำมาใช้ในการทำบอร์ดหรือไม้อัด อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ผลิตสารที่ใช้เปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำหนักและความแข็งแรงของไหมสังเคราะห์ รักษาผ้าไม่ให้ยับหรือย่น ในอุตสาหกรรมกระดาษ ใช้เพื่อให้กระดาษลื่นและกันน้ำได้  เป็นต้น

ส่วนในด้านการเกษตรใช้สารฟอร์มาลินทำลายและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้ต้นไม้เป็นโรค ใช้เก็บรักษาและป้องกันผลิตผลเกษตรจากการเสียหายระหว่างการขนส่ง  ใช้ฆ่าเชื้อราในดิน ใช้เป็นส่วนผสมของสารละลายที่ใช้เคลือบผัก ผลไม้จำพวกส้มระหว่างการเก็บเกี่ยวเพื่อชะลอการเน่าเสีย  เป็นต้น  

พ่อค้า แม่ค้า นิยมนำฟอร์มาลินมาแช่ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสด เพื่อทำให้อาหารต่างๆ สดอยู่ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว แต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการหลายรายมักจะใช้วิธีการผิดๆ ในการเก็บรักษาอาหารทะเลให้คงความสดและชะลอการเน่าเสียด้วยการแช่สารฟอร์มาลิน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย

จากการสำรวจข้อมูลการตรวจรายการวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 5.02 โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ  1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ

พวกเราในฐานะผู้ซื้อควรเลือกแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่น่าเชื่อถือ และมั่นใจในคุณภาพได้เท่านั้น แต่หากเราเผลอรับประทานอาหารทะเลที่มีการใส่สารฟอร์มาลินเข้าไปแล้ว จะมีวิธีสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายเราอย่างไรได้บ้าง

หากร่างกายได้รับฟอร์มาลินมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการที่แสดงออกมา ดังต่อไปนี้

ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  หัวใจเต้นเร็ว  แน่นหน้าอก  ปากและคอแห้ง  คลื่นไส้ อาเจียน  ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง  กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร  ปัสสาวะไม่ออก  หมดสติ  ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิต เพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว

วิธีหลีกเลี่ยงอาหารแช่ฟอร์มาลิน

    ควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่ได้มาตรฐาน ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย
    ควรสังเกตอาหารที่จะเลือกซื้อ เช่น เลือกปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นคาว เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เลือกซื้อปู ตาต้องใส และขาต้องติดตัวปูครบทุกขา เลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น และไม่ซื้ออาหารที่เป็นมีพิษ เช่น ปลาหมึกบลูริง
    อาหารทะเลที่จำหน่าย ควรแช่เย็นหรือแช่น้ำแข็งที่สะอาด และต้องทำความสะอาดภาชนะด้วยน้ำผสมน้ำคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค
    เมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่กินทันที ควรเก็บใส่ตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
    การกินอาหารทะเลให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ และควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและที่ยังไม่สุกออกจากกัน

    ถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลิน หากถูกแสงแดด หรือลม เป็นเวลานานๆ เนื้อจะมีลักษณะแห้ง และไม่เต่งตึงอยู่เหมือนเดิม ควรเลือกซื้อผักอนามัย หรือผักกางมุ้ง เลือกผักที่ไม่มีลักษณะแข็ง หรือกรอบจนเกินไป การเลือกอาหารทะเลควรเลือกอาหารที่สด เนื้อไม่เปื่อยยุ่ย สีไม่ผิดปกติ และอาหารทะเลต้องวางจำหน่ายในน้ำแข็งตลอดเวลา ที่สำคัญต้องล้างอาหารให้สะอาดก่อนการปรุงเสมอ